วิมานเทวดา ภูทอก จังหวัดบึงกาฬ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดแหล่งท่องเที่ยว Unseen ใหม่ที่น่าไปสัมผัสและวันนี้ govivigo ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแดนอีสาน จังหวัดบึงกาฬ เมืองแห่งมนต์เสน่ห์ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ น้ำตก ภูเขา ป่าไม้ ที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง และที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ "ภูทอก - วิมานเทวดา" โดยภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยวเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย เราสามารถขึ้นชมเพียงภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปชมได้ตามปกติ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาทางธรรมอีกด้วย
ภูทอก วิมานเทวดา แห่งนี้ มีบันไดให้นักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญขึ้นไปพิชิตถึง 7 ชั้นด้วยกัน ซึ่งแต่ละชั้นก็จะมีความยากลำบาก เพราะด้วยความชันและความน่าหวาดเสียวระหว่างทางที่เดินขึ้นไปแต่ก็เต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติทั้ง 2 ข้างทาง
โดยเริ่มจากชั้นแรกเมื่อผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณ
- ชั้นที่ 1 แล้ว เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์
- ชั้นที่ 2 เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ทัศนียภาพที่ไม่ต่างจากชั้นที่ 1
- ชั้นที่ 3 เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน
- ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มากจึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด
- ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
- ชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่สำคัญที่สุด มีลานวัดและกุฏิที่อาศัยของพระ ทั้งเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย
- ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตรเป็นชั้นที่สามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด
- ชั้นที่ 7 จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผจญภัยดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
และมีตำนานเล่าขานกันต่อต่อมา โดยเขาเล่าว่า ใครที่มีโอกาสได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดของภูเขา 7 ชั้นจะถือว่าเป็นมหาบารมี
เครดิต : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นจะถูกคัดกรองโดยแอดมินก่อนที่จะแสดงผล