วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
จังหวัด “ลำพูน” มีสถานที่น่าท่องเที่ยวและน่าทัศนาอยู่มากมายหลายแห่ง ทั้งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลำพูนเอง และตามอำเภอต่าง ๆ ถ้าจะ “แอ่ว” (เที่ยว) ให้ทั่วถึงกันจริง ๆ แล้ว ใช้เวลาประมาณ 7 วันกำลังพอดี ๆ ไม่เนิ่นนานและก็ไม่เร็วจนเกินไป โดยเริ่มต้นจากในตัวอำเภอเมืองก่อน “แอ่ว” ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบแล้ว จึงค่อยออกไปตามอำเภอต่าง ๆ ซึ่งอยู่รอบนอกอีกต่อไป
ก่อนอื่นใด เมื่อท่านเหยียบย่างเข้าตัวอำเภอเมืองลำพูนแล้ว สถานที่แห่งแรกที่สุดที่ผมขอแนะนำให้ท่านไปสักการะบูชา และกราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตัวเองและครอบครัวของท่านกันก่อน คือ พระบรมธาตุ “หริภุญชัย” แล้วถือโอกาสเดินเที่ยวชมภายในบริเวณวัดไปด้วย
“วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า “วัดพระธาตุ” เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองลำพูน ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนเพียง 150 เมตรเท่านั้น อาณาเขตของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ มีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ด้านทิศเหนือ คือ ถนนอัฏฐารส ด้านทิศใต้ คือ ถนนไชยมงคล ด้านทิศตะวันออก คือ ถนนรอบเมือง และด้านทิศตะวันตก คือ ถนนอินทยงยศ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1440 ในสมัย “พระยาอาทิตยราช” กษัตริย์ผู้ครองเมือง “หริภุญชัย” เป็นลำดับที่ 33 และได้รับการบูรณะซ่อมแซมต่อเติมต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันนี้
เริ่มต้นกันที่ถนนรอบเมืองซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวอำเภอเมืองลำพูน หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ด้านประตู “สิงห์คู่” ตรงกันข้ามกับสะพาน “ท่าสิงห์พิทักษ์” เป็นทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญ-ชัยวรมหาวิหาร ซึ่งประตูสิงห์คู่หันหน้าไปทางแม่น้ำกวงหรือทิศตะวันออก แต่ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด จะต้องผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัย “ศรีวิชัย” ซึ่งก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมี “สิงห์” ใหญ่คู่หนึ่ง ยืนเป็นสง่าบนแท่น สูงประมาณ 1 เมตร (ข้างละตัว) ปั้นขึ้นในสมัย “พระยาอาทิตยราช” เมื่อทรง “ถวายวัง” ให้เป็น “สังฆาราม”
เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว เบื้องหน้าจะเป็น “พระวิหารหลวง” ซึ่งเป็นพระวิหารหลังใหญ่ มีระเบียงรอบทั้งสี่ด้าน และมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุก ๆ วันพระ พระวิหารหลวงหลังนี้สร้างขึ้นใหม่แทนพระวิหารหลังเก่าซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อปีพุทธศักราช 2466
ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ ก่ออิฐ ถือปูน และลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว รวมกับพระพุทธปฏิมาขนาดกลาง หล่อด้วยโลหะในสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลาง อีกหลายองค์ด้วยกัน
ด้านหลังของพระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุ “หริภุญชัย” ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่า เมื่อยามต้องกับแสงอาทิตย์ จะเปล่งประกายเป็นสีทองสดใสแวววาว สร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1440 สมัย “พระยาอาทิตยราช” และได้สร้างเสริมกันต่อ ๆ มาโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นพระเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ ๆ (ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) ในสมัย “พระเจ้าติโลกราช” เมื่อปีพุทธศักราช 1986
เมื่อถึง “วันวิสาขบูชา” หรือ “วันเพ็ญเดือนหก” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ภาคกลาง) หรือเดือน 8 (ภาคเหนือ) หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า “วันแปดเป็ง” ของทุก ๆ ปี จะมีพิธีสักการะบูชาสรงน้ำและงานสมโภชพระบรมธาตุ “หริภุญชัย”
พระสุวรรณเจดีย์
“พระสุวรรณเจดีย์” ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ทางด้านขวาของพระ-บรมธาตุ “หริภุญชัย” สร้างขึ้นในสมัย “พระยาอาทิตยราช” และ “พระนางปทุมวดี” ซึ่งเป็นอัครมเหสี ภายหลังจากสร้างปราสาทครอบพระโกศทองคำ ซึ่งบรรจุพระโกศพระธาตุพระพุทธเจ้าอยู่ข้างในเสร็จได้ 4 ปี “พระสุวรรณเจดีย์” องค์นี้ สร้างเป็นทรงปรางค์สี่เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้มเป็นฝีมือแบบขอมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนยอดของพระเจดีย์หุ้มด้วยทองเหลือง สำหรับภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุ “พระเปิม” ซึ่งเป็นพระเครื่องยอดนิยมไม่แพ้ “พระรอด” ของวัดมหาวันวนารามเช่นกัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย” ตั้งอยู่ที่ถนนอินทยงยศ เยื้องกับด้านหลังของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ เริ่มการก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2470 โดย “พระยาราชนิกุลวิบูลย์ภักดี” สมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ เริ่มแรกได้อาศัยใช้ศาลาซึ่งอยู่ด้านหลังของพระบรมธาตุหริภุญชัย (ด้านทิศตะวันตก) เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯชั่วคราว ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ (ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2517 ซึ่ง “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อปีพุทธศักราช 2522
ภายในพิพิธภัณฑ์มี “ศิลาจารึก” อาวุธยุทธภัณฑ์ในการรบพุ่งของคนในสมัยโบราณ เช่น ง้าว, หอก, ดาบ, ปืนเล็กยาว, ปืนใหญ่, เหรียญเงิน, เงินรูปช้าง-รูปสิงห์ และพระราชวังจำลอง เป็นต้น รวมทั้งได้จัดให้มีการแสดงโบราณวัตถุ-ศิลปะ สมัย “หริภุญชัย” ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17-19 และศิลปะ “ล้านนา” มีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19-25
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์)
เครดิต : sites.google.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นจะถูกคัดกรองโดยแอดมินก่อนที่จะแสดงผล