วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา




วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมา
วัดพนัญเชิง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (จากคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่าเป็นพระอารามหลวงลำดับที่ ๑๕) อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ตำบลหอรัตนไชย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตอนใต้ของเกาะเมือง ทางราชการใช้ชื่อว่าตำบลคลองสวนพลู (หรือตำบลกะมัง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เหตุที่ได้นามว่า "วัดพนัญเชิง"
  1. คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายว่า “นั่งขัดสมาธิ” ฉะนั้น คำว่า “วัดพนัญเชิง” “วัดพระแนงเชิง” หรือ “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายความถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั่นเอง
  2. เพราะการสร้างพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยเป็นประธานของวัด อาจเป็นลักษณะพิเศษจึงขนานนามวัดตามพระพุทธลักษณะที่สร้างเป็นปางมารวิชัยก็ อาจเป็นได้ โดยเฉพาะพระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่ สุดในประเทศไทย
  3. เพราะสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงจะนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว คำว่า “ วัดพนัญเชิง” ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงอาศัยเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้ไปต่าง ๆ กัน จึงโปรดให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิงไว้ดังนี้

“วัดพนัญเชิง” อีกคำหนึ่งว่า “วัดพระเจ้าพนัญเชิง” ให้คงเรียกอยู่อย่างเดิมอย่าอุตริเล่นลิ้น เรียกว่าผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองมาแต่ไหนๆมาแปลงว่าผนังเชิงก็ไม่ เพราะ จะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร สำแดงแต่ความโง่ของผู้แปลงไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่า “พนัญเชิง” ด้วยเหตุไรประการหนึ่ง วัดนั้นเป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็เจ้าของเดิมตั้งชื่อนั้นไว้จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรก็ไม่รู้ มาแปลงขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็ไม่สู้จะสบาย ไม่พอที่ย้ายก็อย่ายกไปเลย ให้คงไว้ตามเดิมเถิด”

เนื้อที่และที่ดินธรณีสงฆ์
วัดพนัญเชิงวรวิหาร มีเนื้อที่ตั้งวัด ๘๒ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๙๑๔๙ ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่มีเนื้อที่กว้างขวางที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรี อยุธยา และที่ดินธรณีสงฆ์อีกจำนวน ๘ แปลง มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น ๗๗ ไร่ ๙๖ ตารางวา บริเวณที่ตั้งของวัดพนัญเชิงวรวิหาร ในปัจจุบัน มีอาณาเขตดังนี้
  1. ทิศตะวันตก ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เรียกว่า ปากน้ำบางกะจะ
  2. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนวัดพนัญเชิง(ไตรรัตนนายก) ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดพนัญเชิงวรวิหาร
  3. ทิศใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งฌาปนสถานของวัดพนัญเชิงฯ โดยมีถนนหลวงตัดผ่าน
  4. ทิศตะวันออก มีสุสานชาวจีนอยู่ในเขตพื้นที่วัด
โบราณสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด
  1. พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) เป็นชนิดพระปูนปั้นปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว สูงตลอดรัศมี ๙ วา ๒ ศอก ประดิษฐ์อยู่ในพระวิหารใหญ่ตามฝาผนังพระวิหารใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน ทำเป็นช่องๆ ไว้บรรจุพระพุทธรูป ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นพระขนาดเล็กตามภาษาชาวบ้านว่า “พระงั่ง” ในทำเนียบพระพุทธรูปกล่าวว่า สร้างเมื่อปีชวด พ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ๒๖ ปี แต่ไม่ได้ความว่าใครเป็นผู้สร้าง ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื่องจากไฟไหม้ผ้าห่มพระพุทธไตรรัตนนายก ในพ.ศ.๒๔๔๔ ทำให้ชำรุดหลายแห่ง และซ่อมแซมเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีการทำอุณาโลมเปลี่ยนใหม่ยกขึ้นติดตามเดิมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.๒๕๔๙ กำลังจะดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่โดยจะทำการปิดทองใหม่ทั้งองค์ เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นที่น่าศรัทธาของพุทธศาสนิกชน พระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วย คือ ตามคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกนั้น พระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี เหตุนี้ประชาชนจึงมีความเคารพนับถือมาก ถึงหน้าเทศกาลได้ไปประชุมกันนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี
  2. ภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนี้ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ๓ องค์ เรียงจากซ้ายไปขวา ดังนี้
  3. พระพุทธรูปทอง สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๔ ศอก ๓ นิ้ว
  4. พระพุทธรูปปูนปั้น สมัยอยุธยาปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก ๑๑ นิ้ว
  5. พระพุทธรูปนาก สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก
พระพุทธรูปทองและนาคนั้น สันนิษฐานว่าสร้างสมัยตอนปลายสุโขทัยราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมทีเดียวหุ้มปูนลงรักปิดทองไว้ เข้าใจว่าคงหุ้มมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางวัดจัดทำความสะอาดจึงได้พบรอยปูนกระเทาะออก เห็นว่าเป็นทองและนาค จึงได้กระเทาะปูนออกดังปรากฏเห็นอยู่ในทุกวันนี้

ข้อมูลการติดต่อ
ที่อยู่ ป ๒ หมู่ ๑๒ ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
Website : http://www.watphananchoeng.com
E-mail : watphananchoeng@hotmail.com

หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อภายในวัดพนัญเชิงวรวิหาร
  1. สำนักงานกลางวัดพนัญเชิงวรวิหาร (กุฏิเจ้าอาวาส) โทรศัพท์ ๐-๓๕๒๔-๓๘๖๗-๘โทรสาร ๐-๓๕๒๔-๓๘๖๘
  2. เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าคณะตำบลหอรัตนไชย (พระมหาเชิดชัย กตปุญฺโญ ป.ธ.๙) โทรศัพท์ ๐๘-๑๒๘๖-๐๖๒๑โทรสาร ๐-๓๕๒๔-๑๗๐๘, ๐-๓๕๒๓-๔๙๖๕ E-mail : chirdchai2011@gmail.com
  3. ฝ่ายจัดเช่าวัตถุมงคล โทรศัพท์ ๐๘๔-๗๗๕-๕๘๐๗ , ๐๘๖-๕๕๔-๘๘๖๑
การเดินทางสู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ๓ ทาง
  1. เดินทางโดยรถยนต์ไป ตามถนนพหลโยธิน แยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สามแยกอำเภอวังน้อย ถนนสายโรจนะถึงเจดีย์ใหญ่วัดสามปลื้ม ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑ เลี้ยวซ้ายไปตามถนน ผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลแล่นเรื่อยไปจนถึงวัด
  2. เดินทางโดยรถไฟไป ยังสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อรถประจำทาง หรือรถรับจ้างเพื่อข้ามเรือที่สถานีตำรวจป้อมเพชร ซึ่งเรียกว่า ท่าข้ามวัดสุวรรณดาราราม - วัดพนัญเชิงฯ
  3. เดินทางโดยเรือ มีเรือ ๓ สาย สายใต้และสายตะวันตก จะถึงวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจป้อมเพชรก่อนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สายเหนือจะถึงตัวจังหวัดก่อนถึงวัด
แผนที่



เครดิต : thailandtemples.org


Share on Google Plus

About Travel Game

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวและเกม Travel & Game
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นจะถูกคัดกรองโดยแอดมินก่อนที่จะแสดงผล