วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติและความเป็นมาของ วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมมีชื่อว่า “วัดหงส์” มีหลักฐาน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีประวัติที่เล่าสืบทอดกันมายาวนาน และเมื่อเวลาผ่านไป แม่น้ำบางปะกงไหลกัดเซาะตลิ่งพังลงมา วัดหงส์จึงหมดไป จึงมีการสร้างวัดขึ้นใหม่

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้ว และคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้นแต่แรกมีชื่อว่า "วัดหงส์" เพราะมี "เสาหงส์" อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า "วัดเสาธง" ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า "วัดเสาธงทอน" ส่วนชื่อ "วัดโสธร" อันมีความหมายว่า "บริสุทธิ์" และ "ศักดิ์สิทธิ์" นั้น เรียกตามพระนามของพระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธรซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้
ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า "วัดโสธรวรารามวรวิหาร" เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501


ความจริงวัดโสธรแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีใด ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอน เพียงแต่ทราบว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เท่านั้นเอง แล้วก็สร้างในสมัยเดียวกับหลวงพ่อบ้านแหลม ที่แม่กลองหรือสมุทรสงคราม ที่มีผู้คนบูชากราบไหว้ เพราะความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน


ประวัติพระอุโบสถหลวงพ่อโสธร หลังใหม่


เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัดมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ ซึ่งหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม ซึ่งพระจริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์ (หลวงพ่อเจียม) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาค เพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นที่ปลื้มปิติของชาวฉะเชิงเทรา อย่างหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมด ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ประการใด

การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ เป็นงานที่มีความท้าทายเชิงวิศวกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ประดิษฐานขององค์พระนั้น เป็นตำแหน่งที่มีความเชื่อว่า เป็นตำแหน่งที่ทำให้บ้านเมืองฉะเชิงเทราเจริญรุ่งเรือง จึงมีข้อจำกัดในการก่อสร้างที่ว่า การก่อสร้างนี้จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ แม้แต่กระเบียดเดียว ทั้งทางราบ และทางดิ่ง (หมายถึงว่าจะยกขึ้นลงก็ไม่ได้) โดยต้องสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กครอบฐานชุกชี ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ มีเครื่องวัดความชื้น และติดตั้งเครื่องวัด และควบคุมอุณหภูมิและความชื้น

ในส่วนของศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ นับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดาน จะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และโดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ เหนือมณฑปพระอุโบสถ และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี จึงเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด



ภาพภายนอกวิหาร พระอุโบสถหลังใหม่



ในการไปนมัสการหลวงพ่อโสธรนั้น จะแบ่งเป็น พระอุโบสถ 2 หลัง คือ พระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งจะประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริงไว้ และ พระอุโบสถที่อยู่ข้างๆ เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโสธรจำลอง

ซึ่งในการแก้บนต่างๆ ให้ไปใช้สถานที่คือ พระอุโบสถ หลวงพ่อโสธรจำลอง เพราะในโบสถ์ที่ประดิษฐานองค์จริงนั้น ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนด้านใน แต่อนุญาตให้ประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้ได้

หลวงพ่อโสธรจำลอง



หลวงพ่อโสธร องค์จริง


ปัจจุบัน วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 จัดเป็น พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สามารถเข้าสักการะองค์หลวงพ่อโสธรได้ทุกวัน

บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดโสธรฯ มีบริการร้านค้าจำหน่ายอาหาร และสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง สามารถหาซื้อของฝากหรือของกินเล่นได้้ โดยเฉพาะขนมใบจาก เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างมาก

เปิดให้นมัสการทุกวัน 
วันธรรมดาเวลา 07.00–16.15น. วันหยุดเวลา 08.00–16.30น. 

ข้อควรรู้ : 
- การเข้านมัสการหลวงพ่อโสธรที่โบสถ์ใหม่นั้น ขอความกรุณาแต่งกายสุภาพ 
- กางเกงหรือกระโปรงควรมีความยาวเลยเข่า, เสื้อไม่บาง, เอวไม่ลอย, งดเสื้อสายเดี่ยวแขนกุดทุดชนิด
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร  โทร. 038-511048, 038-511449

ประวัติหลวงพ่อโสธร



เรื่องเล่าสามพี่น้อง

ประวัติเกี่ยวกับหลวงพ่อโสธรมีเรื่องราวที่เล่าขานกันมานาน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระพุทธรูปลอยน้ำมา3องค์ที่แม่น้ำบางปะกง พอมาถึงบริเวณสถานที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมา จึงช่วยกันอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง ด้วยการเอาเรือออกไปอัญเชิญช่วยกันยกขึ้นเรือ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะยกเอาขึ้นมาไม่ไหว จึงเปลี่ยนวิธีการเป็นเอาเชือกเส้นใหญ่ ไปคล้ององค์พระทั้ง3องค์อย่างแน่นหนา แล้วช่วยกันชักลากขึ้นมาบนฝั่ง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจของชาวบ้านในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เพราะทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ชาวบ้านพยายามลองอยู่หลายครั้งหลายวิธีก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเชือกขาดรั้งเอาไว้ไม่อยู่ ประกอบกับ กระแสน้ำเกิดปาฏิหาริย์ปั่นป่วนขึ้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทำให้พระพุทธรูปทั้ง3องค์จมหายไป ท่ามกลาง ความเสียดายของผู้คนซึ่งเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน ต่างพากันยกมือไหว้ท่วมศีรษะ

บางคนก็พูดว่าไม่มีบุญเพียงพอ ที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง3องค์ขึ้นมาได้ ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นโจษขานกันต่างๆนานา บ้างก็ว่า เทวดาฟ้าดินไม่โปรด หลวงพ่อก็ไม่ยอมประดิษฐานอยู่บนฝั่ง เรื่องราวโจษขานกันไปมากมายนี้ ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกสถานที่ ที่พระพุทธรูปทั้ง3 องค์ มาสำแดงปาฏิหาริย์ลอยวนทวนน้ำไปมาว่า “สามพระทวน”เรียกกันเรื่อยไปนานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น “สัมปทวน” กันไปในที่สุด

ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปทั้ง3องค์ที่ลอยมาในแม่น้ำบางปะกงนั้น องค์หนึ่งลอยไปทางบางพลี ไปผุดขึ้นที่คลองวัดบางพลี ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานเอาไว้ที่วัดบางพลีได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ ท่านต้องการจะประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงนั้นก็เป็นได้ ปัจจุบันคือ หลวงพ่อโต วัดบางพลี สมุทรปราการ

อีกองค์หนึ่งลอยไปที่บริเวณบ้านแหลมสมุทรสงคราม ชาวบ้านตีอวนได้องค์พระขึ้นมา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ที่วัดบ้านแหลม หรือในปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือที่รู้จักกันดีคือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม และอีกองค์หนึ่งผุดขึ้นมาที่แม่น้ำบางปะกง ที่หน้าวัดเสาธงทอนหรือ “วัดโสธรในปัจจุบัน”

พระคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว 

หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว หรือจังหวัดฉะเชิงเทราโดยแท้จริงตลอดมา หลวงพ่อพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง1.48 เมตร เท่าที่มองเห็นองค์หลวงพ่อโสธรอยู่ในปัจจุบันนี้
ผู้รู้เล่าว่าองค์จริงของหลวงพ่อพุทธโสธรนั้น เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่องค์เล็กกว่าที่เห็นกันอยู่ แต่เนื่องจาก
หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณ์งดงามมาก มีผู้เกรงว่าจะเป็นอันตรายอาจจะมีผู้ใจบาปมากระทำไม่ดี จึงจัดการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นใหม่ แล้วเอาองค์จริงของหลวงพ่อโสธรประดิษฐานไว้ข้างในไม่ให้ใครเห็นจนบัดนี้.
 ไข่ต้ม สิ่งของที่นิยมใช้ในการบนบานศาลกล่าว แก่องค์หลวงพ่อโสธร



แผนที่ตั้ง



ที่อยู่ของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

เครดิต : sawasdee-padriew.com


Share on Google Plus

About Travel Game

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวและเกม Travel & Game
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นจะถูกคัดกรองโดยแอดมินก่อนที่จะแสดงผล